ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ / ช่างภาพสัตว์ป่า / 59 ปี
>> ผมเป็นลูกชาวไร่ที่มีคำนำหน้าว่าหม่อมหลวง พ่อผมเป็นหม่อมราชวงศ์แต่ปฏิเสธชีวิตที่ควรจะเป็น พ่ออยากเป็นเกษตรกรจึงย้ายไปอยู่ปากช่องเพื่อแสวงหาชีวิตของตัวเอง เจอกับแม่ซึ่งเดิมเป็นคนกรุงเทพฯ แต่หนีภัยสงครามไปอยู่ที่นั่น
>> ครอบครัวผมไม่ได้ถือเรื่องยศถาบรรดาศักดิ์หรือฐานันดรเป็นสาระสำคัญของชีวิต พ่อผมปลูกกะหล่ำปลี หาบน้ำรดผักเอง
>> คนเราไม่ควรจะปฏิเสธสิ่งที่ตัวเองเป็น เรียนจบ ป.4 ครอบครัวผมก็ย้ายกลับมา กทม. ตอนนั้นผมเริ่มปฏิเสธการเป็นหม่อมหลวง เวลาเขียนชื่อก็จะไม่ใส่คำนำหน้าซึ่งความจริงแล้วไม่ถูกต้อง
>> ความฝันของผมอยู่ที่ต่างจังหวัดเสมอ ถึงแม้ต่อมาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนลาซาลแต่ผมก็ยังคิดถึงชีวิตวัยเด็กที่มีความสุขกับธรรมชาติ คิดถึงความสนุกที่ได้วิ่งเล่นกับลูกคนงาน
>> สิ่งที่เปลี่ยนแปลงผมไปตลอดกาลคือการดูนก หลังจากจบปริญญาตรีด้าน
สัตวบาลจากลาดกระบังก็ไปเดนมาร์กเพื่อเรียนรู้เรื่องวัวนม แต่ช่วงนั้นผมกลับดูนกจริงจังมากตลอดสี่ปี เหมือนไปเรียนวิชาดูนกมากกว่าเรื่องวัว
>> ผมเริ่มจากเขียนเรื่องดูนกส่งไปนิตยสารแค้มปิ้งท่องเที่ยว หลังจากนั้นก็ไปรู้จักกับทีมของนิตยสาร อสท. ผมก็เข้าไปเป็นเด็กคอยรับงานเขียนเรื่องดูนก เดินป่า เรื่องธรรมชาติ
>> ช่วงเวลานั้นกระแสอนุรักษ์แรงมาก เพราะเป็นยุคพี่สืบ (นาคะเสถียร) เสียชีวิตพอดี งานเขียนเรื่องธรรมชาติขายดีมาก อย่างผมก็มีคนมาซื้อรูปไปทำปฏิทินทำให้ได้เงินมาซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม
>> “ยิ่งเรียน ยิ่งไม่รู้อะไร” ชีวิตในป่ากว่าสามสิบปีมันเปรียบเสมือนโรงเรียน แต่เป็นการเรียนอีกแบบ ยกตัวอย่าง มีสัตว์ชนิดหนึ่งเมื่อก่อนเคยถ่ายภาพมันได้แต่วันนี้ทำทุกอย่างเหมือนเดิมกลับถ่ายไม่ได้ มันคือการเริ่มต้นใหม่ มันคือสิ่งที่เราต้องเข้าใจในเรื่องของ ‘ความไม่รู้’ เพราะถ้าคิดว่าเรารู้เมื่อไหร่เราก็พลาด
>> ขณะที่ผมเรียนรู้จากสัตว์ป่านั้นสัตว์ป่ามันก็เรียนรู้จากผม เราต้องทำตัวเหมือนน้ำไม่เต็มแก้ว มันไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย มันเป็นเรื่องที่คนป่าคนเขารู้กันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ในคัมภีร์ทุกศาสนาก็สอนมาแบบนี้
>> สิ่งที่ผมรู้สึกที่สุดคือการทำงานของเราอาจทำให้สัตว์เสียโอกาส เช่น ถ้าสัตว์จะลงกินน้ำแล้วผมถ่ายรูปจนมันรู้ตัวเตลิดหนีไป กว่ามันจะได้กินน้ำอีกครั้งหนึ่งไม่รู้เมื่อไหร่ อย่าหวังแต่ว่าจะได้งานของเราเพียงอย่างเดียว
>> ครูเรื่องการถ่ายภาพสัตว์ป่าของผมช่วงแรกคือพราน เพราะผมได้เรียนรู้เรื่องพฤติกรรม
>> ความหมายของการถ่ายภาพสัตว์ป่าของผมคือ ภาพถ่ายนั้นจะต้องแทนสิ่งที่ผมรู้สึกในวินาทีที่ผมเห็นตอนนั้นแล้วถ่ายทอดออกมาให้คนอื่นได้เห็นว่าสัตว์ป่าไมใช่แค่สัตว์แต่เป็นสิ่งมีชิวตที่ทำหน้าที่บางอย่างในป่า
>> คนมักเข้าใจว่าสัตว์ป่าคือสัตว์ร้าย แต่จริง ๆ แล้วมันคือสัตว์ป่วยเพราะโดนมนุษย์คุกคามมากขึ้น มีปัจจัยมากมายที่ทำให้สัตว์ดุร้ายกว่าเดิม
>> สิ่งที่ผมได้จากการเฝ้ารอก็คือมันทำให้ผมรู้ว่าผมไม่ควรรู้สึกว่ารออะไร เช่น ถ้าผมเข้าป่าเวลาหกโมงเช้าแล้วคิดว่าเมื่อไหร่จะมืดหรือเมื่อไหร่จะมีตัวอะไรออกมาก็แย่แน่
>> การเฝ้ารอสอนให้ผมเรียนรู้ว่าตัวกับใจไม่จำเป็นต้องอยู่ด้วยกัน ตัวเรานั่งเฝ้ารอถ่ายภาพสัตว์ป่าแต่ใจเราสามารถคิดอะไรก็ได้ วิธีคิดนี้เกิดจากช่วงหนึ่งที่ผมป่วยอยู่ในป่าแล้วผมรู้สึกว่าทำไมต้องจดจ่อแต่ความไม่สบาย ถ้าใจเราอยู่แต่เรื่องไม่สบายเราก็ป่วยอยู่นั่น
>> ผมใช้ชีวิตในป่ามากกว่าเมือง กลับมากรุงเทพฯ ก็มาหาแม่ ทำธุระ ส่งภาพส่งต้นฉบับ เวลาผมเดินเข้าป่าผมรู้สึกเหมือนบ้านแต่พออยู่ในเมืองจะอึดอัดขัดเขิน
>> เมืองกับป่าสำหรับผมไม่ต่างกัน คนเมืองตื่นเช้าไปทำงานเวลาเดินข้ามถนนก็ต้องระมัดระวังอันตราย ในป่าก็ต้องระวัง ถ้าโดนรถชนหมายความว่ารถมันร้ายหรือเปล่า พอเข้าป่าแล้วโดนสัตว์ป่ากัดแสดงว่าสัตว์ป่าร้ายหรือ
>> สังคมเมืองกับสังคมป่ามีกฎกติกาเหมือนกัน สิ่งที่แตกต่างก็คือสัตว์ป่าจะรักษากฏกติกาอย่างเคร่งครัดและเคารพกันกว่ามนุษย์ นอกจากสังคมในฝูงยังมีสังคมใหญ่ที่อยู่ร่วมกันในป่าอีกด้วย เช่นเสือแก่ฉี่ไว้ถ้ามีเสือหนุ่มเข้ามาดมแล้วรู้ว่าตัวเองยังไม่แข็งแกร่งพอก็กลับไปฝึกฝนรอเวลาที่จะแข็งแรงพอที่จะเบียดออกไป
>> สัตว์ป่ารู้จักรับผิดชอบรักษาหน้าที่ของตัวเอง ส่วนสังคมมนุษย์อยู่กันแบบผิดกฎกติกาตลอดเวลา ทุกครั้งที่ผมเข้าป่าผมก็ต้องยอมรับกฎกติกานั้นแม้ว่าจะไม่มีสัตว์ป่าตัวไหนยอมเป็นเพื่อนเราก็ตาม
>> เวลาอยู่ในป่าเราต้องมีระยะห่าง เพื่อเว้นช่องทางให้กับสิ่งมีชีวิตอื่น ผมนำประสบการณ์ในป่ามาใช้กับชีวิตเมืองอย่างการศึกษาคนว่าเข้าใกล้เขาได้แค่ไหน
>> เป้าหมายในชีวิตของผมคือการสร้างความเข้าใจเรื่องธรรมชาติ สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน ผมคิดว่าคงทำได้แค่นี้เพราะเราเองก็เป็นแค่เศษเสี้ยวเล็ก ๆ ในสังคม
>> ถ้าวันหนึ่งเดินป่าไม่ไหวก็จะนำข้อมูลวัตถุดิบมาเขียนนิยาย
ทั้งหมดใน นิตยสาร Esquire ฉบับ ต.ค. 59
Interview: Ammahitz
Photography: Suwat
Edit: Paron S.
YOU MIGHT LIKE !
-
What I've Learned: วิจัย อัมราลิขิต, นายกเทศมนตรีเมืองพนัสนิคม
-
What I've Learned: เทพประทาน เหมเมือง, นักเขียน นักแปล ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
-
What I've Learned: ก้อง ฤทธิ์ดี, นักเขียน นักแปล นักวิจารณ์ภาพยนตร์
-
'สยาม สังวริบุตร' ชกต่อย มะเร็ง และวงการบันเทิง
56 ปี ผู้กำกับละคร
-
David Hockney ขณะที่คนอื่นร่วง เขายังรุ่ง
อัตตาสำหรับผมคืออยากให้คนเห็นผลงานผม ไม่ได้อยากให้มารู้จักผม
-
เฉลิมพล ปุณโณทก - นักสร้างนวัตกรรม
ปัญญาประดิษฐ์คือตัวปัญญา มันอยู่ได้ทุกที่